สถานีวิทยุยานเกราะ ของ กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์

ภายในพื้นที่กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เกียกกาย เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุยานเกราะจำนวน 3 คลื่น ซึ่งเริ่มกระจายเสียงครั้งแรกพร้อมกันเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้แก่ เอเอ็ม 540 กิโลเฮิรตซ์, เอฟเอ็ม 89.0 เมกะเฮิรตซ์ และเอฟเอ็ม 91.5 เมกะเฮิรตซ์[1] โดยคลื่น 89.0 เมกะเฮิรตซ์ บจก. ทราฟฟิกคอนเนอร์ นำโดยวินิจ เลิศรัตนชัย เคยเช่าเพื่อดำเนินกิจการสถานีวิทยุ "ไพเรท ร็อค"[20] ส่วนคลื่น 91.5 เมกะเฮิรตซ์ นั้น บจก. เอไทม์ มีเดีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์) เคยเช่าเพื่อดำเนินกิจการสถานีวิทยุ "ฮอตเวฟ"[21]

นอกจากนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2500–2520 สถานีวิทยุยังได้จัดทำนิตยสารรายเดือน "ยานเกราะ" ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมนักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น วัฒน์ วรรลยางกูร, 'รงค์ วงษ์สวรรค์, ประมูล อุณหธูป, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นต้น[22]

ในช่วงปี พ.ศ. 2517–2519 สถานีวิทยุยานเกราะเคยถูกใช้เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขวาจัด โดยมี "ชมรมวิทยุเสรี" ซึ่ง พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, อาคม มกรานนท์ และอุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นโฆษกสำคัญ รวมถึงยังมี "ชมรมแม่บ้าน" ที่นำโดย วิมล เจียมเจริญ ซึ่งทั้งสองชมรมเป็นผู้จัดรายการที่มีลักษณะเผยแพร่ทัศนะโจมตีขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น และปลุกระดมให้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา[23][24]

แหล่งที่มา

WikiPedia: กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ https://www.ryt9.com/s/iq02/788869 https://mgronline.com/crime/detail/9630000099780 https://thaipublica.org/2011/11/army-battle-flood/ https://www.sanook.com/news/893830/ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_40787... https://www.matichon.co.th/columnists/news_2349833 https://2read.digital/chapter/22537/2read.digital/... https://www.facebook.com/tank1004 http://www.cavalrycenter.com/radio/ https://www.thaipost.net/columnist-people/474938/